รายละเอียด



ม.อ.ปัตตานี นำเสนอ 3 ประเด็นต่อนายกรัฐมนตรีด้านการใช้ทุนวัฒนธรรมในพื้นที่ และการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากเพื่อยกระดับรายได้ ขจัดความยากจน และสร้างโอกาสทางสังคมในพื้นที่จังหวัดปัตตานี



   วันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2567 ณ บ้านเลขที่ 5 ถนนอาเนาะรู อ.เมืองปัตตานี จ.ปัตตานี  ผศ.ดร.อัตชัย เอื้ออนันตสันต์  รองอธิการบดีวิทยาเขตปัตตานี  (ม.อ.ปัตตานี)  ผศ. ดร.อรุณีวรรณ บัวเนี่ยว  รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและพันธกิจสังคม วิทยาเขตปัตตานี  ผศ.ศิริชัย พุ่มมาก  คณบดีคณะศิลปกรรมศาสตร์ พร้อมด้วยนักวิจัยศูนย์ประสานงานการวิจัยแก้ไขปัญหาความยากจนฯ  และ  ดร.อโศก พลบำรุง รักษาการผู้ช่วยผู้อำนวยการหน่วย บพท. และผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและนวัตกรรมเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ หน่วย บพท.    ได้ให้การต้อนรับและนำเสนอ 3 ประเด็นต่อนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี   ด้านการใช้ทุนวัฒนธรรมในพื้นที่ และการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากเพื่อยกระดับรายได้ ขจัดความยากจน และสร้างโอกาสทางสังคมในพื้นที่จังหวัดปัตตานี  ในโอกาสเดินทางเข้าร่วมกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยว “เที่ยวใต้สุดใจ”   เยี่ยมชมตลาดวิถีชุมชนพื้นบ้านจังหวัดปัตตานี พบปะผู้นำท้องที่ ผู้นำท้องถิ่น และประชาชน ณ มัสยิดกรือเซะ อ.เมืองปัตตานี เยี่ยมชมสถานที่ท่องเที่ยวเมืองปัตตานี ได้แก่ บ้านขุนพิทักษ์รายา บ้านเลขที่ 5 กือดาจีนอ ตลาดวัฒนธรรมกือดาจีนอ ศาลเจ้าเล่งจูเกียง (เจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว) พร้อมเยี่ยมชมมหกรรมท่องเที่ยวปัตตานีอาเซียน “กตัญญูคู่ฟ้ามหาสมโภชเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวปัตตานี” ประจำปี 2567 นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีจะพบปะคณะกรรมการอิสลามและคณะกรรมการมัสยิด และเยี่ยมชมมัสยิดกลางจังหวัดปัตตานี 


    ในโอกาสนี้  ผศ.ดร.อัตชัย เอื้ออนันตสันต์  รองอธิการบดีวิทยาเขตปัตตานี  (ม.อ.ปัตตานี)   ได้นำเสนอและรายงานกิจการของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี  ต่อนายกรัฐมนตรี ใน 3 ประเด็นด้านการใช้ทุนวัฒนธรรมในพื้นที่ และการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากเพื่อยกระดับรายได้ ขจัดความยากจน และสร้างโอกาสทางสังคมในพื้นที่จังหวัดปัตตานี คือ ประเด็นที่ 1. บ้านเลขที่ 5 ถนนอาเนาะรู  เป็นบ้านที่ ม.อ.ปัตตานี  ได้รับโอนกรรมสิทธิ์มาจากคุณศรีวิไลและคุณเจริญศรี ปริชญากร ด้วยความเชื่อมั่นในการทำงานเพื่อพัฒนาสังคมของ ม.อ.ปัตตานี จึงมอบบ้านโบราณอายุกว่า 170 ปี ที่ยังคงรักษาสภาพเดิมไว้อย่างดี เพื่อให้ ม.อ.ปัตตานีดูแล และเปิดเป็นแหล่งเรียนรู้ให้คนที่มาเดินชมย่านเมืองเก่าปัตตานีได้เยี่ยมชม   ประเด็นที่ 2. การดำเนินงานวิจัยโครงการวงแหวนพหุวัฒนธรรม ที่ ม.อ.ปัตตานี ที่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจาก บพท.มากว่า 5 ปี ส่งผลให้เกิดการเปิดพื้นที่ย่านเมืองเก่าให้เป็นที่รู้จักจนกลายเป็นจุดเช็คอินที่ต้องแวะมาเก็บภาพความประทับใจและสัมผัสวิถีชีวิตชุมชน รวมทั้งการพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชน  และประเด็นที่ 3 . ม.อ.ปัตตานี  ใช้ความเชี่ยวชาญของมหาวิทยาลัยในการทำฐานข้อมูลวิเคราะห์พื้นที่ที่มีศักยภาพสูงด้านการท่องเที่ยว และพื้นที่ที่ต้องให้การส่งเสริม รวมทั้งการใช้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรมในการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากทรัพยากรธรรมชาติเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว โดยเฉพาะอย่างยิ่งทรัพยากรทางทะเลในพื้นที่ที่มีศักยภาพสูงบริเวณ 6 อำเภอชายฝั่งทะเล เช่น ผลิตภัณฑ์สมุนไพร และ ผลิตภัณฑ์แปรรูปอาหารทะเล


                                                                                                                                                                                                          ภาพกิจกรรมได้ที่เพจ : psupattanicampus