รายละเอียด



ทีมนักวิชาการ คณะวิทยาการสื่อสาร ม.อ.ปัตตานี ลงพื้นที่ขับเคลื่อนโครงการกินอยู่ ดูดีมีอาชีพ ที่ปะกาฮะรัง จังหวัดปัตตานี มุ่งสร้างการเรียนรู้แก่ชุมชนอย่างยั่งยืน



วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2567  คณะทำงานโครงการกินอยู่ดูดีมีอาชีพที่ปะกาฮะรัง คณะวิทยาการสื่อสาร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ในฐานะหน่วยจัดการเรียนรู้ และผู้ร่วมเรียนรู้ด้านการเกษตรและผักยกแคร่ลงพื้นที่ หมู่ 3 ต.ปะกาฮะรัง อ.เมือง จ.ปัตตานี ร่วมกิจกรรมการเรียนรู้ด้านการเกษตรและผักยกแคร่ ซึ่งเป็น 1 ใน 7 หลักสูตรของโครงการกินอยู่ ดูดีมีอาชีพที่ปะกาฮะรัง  โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)  



ผศ.ภีรกาญจน์ ไค่นุ่นนา หัวหน้าโครงการกินอยู่ดูดีมีอาชีพที่ปะกาฮะรัง คณะวิทยาการสื่อสาร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เปิดเผยว่า โครงการนี้มีการวางแผนการดำเนินงานมาเป็นระยะเวลา 10 เดือน ตั้งแต่เดือนสิงหาคมที่ผ่านมา มีขั้นตอนการดำเนินงาน 3 ระยะ ได้แก่ การออกแบบการเรียนรู้ การจัดกระบวนการเรียนรู้ และสรุปการเรียนรู้ โดยมีการจัดการเรียนรู้ 7 หลักสูตร สำหรับกลุ่มผู้ร่วมเรียนรู้ที่ขาดโอกาสทางการศึกษาในชุมชน ก่อนหน้านี้ได้นำทีมสมาชิกเดินทางศึกษาดูงานและฝึกปฏิบัติการทำเกษตรและผักยกแคร่  เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2567  ณ ศูนย์เรียนรู้การทำเกษตรปลูกผักยกแคร่ บ้านคลองปอม หมู่ 11 ต.โคกโพธิ์ อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี


การดำเนินกิจกรรมครั้งนี้ เป็นการดำเนินงานในระยะที่สองขั้นตอนการจัดกระบวนการเรียนรู้ ทีมนักวิชากรและสมาชิกโครงการได้วางเป้าหมายร่วมกัน จำนวน 22 แคร่ การเรียนรู้ครั้งนี้เป็นกิจกรรมต่อเนื่องมาจากครั้งที่แล้ว ซึ่งทีมนักวิชาการได้ลงพื้นที่มาให้ความรู้ด้านการเกษตรและผักยกแคร่ ในพื้นที่ หมู่ 1 แล้วเสร็จไปจำนวน 8 ครัวเรือน ครั้งนี้ ได้ตั้งเป้าดำเนินการกิจกรรมปลูกผักยกแคร่ดังกล่าวให้แล้วเสร็จ ระหว่างวันที่ 1-2 กุมภาพันธ์นี้ ณ หมู่ 3 ต.ปะกำฮะรัง จำนวน 6 แคร่ 6 ครัวเรือนของสมาชิกที่สมัครเข้าร่วมโครงการ  เป้าหมายหลักของกิจกรรมครั้งนี้ เพื่อให้สมาชิกนำความรู้และทักษะมาทดลองปฏิบัติจริงในครัวเรือนของตนเอง 

ด้านนางซาลีฮะห์ เจ๊ะอุมา สมาชิกโครงการกินอยู่ดูดีมีอาชีพที่ปะกาฮะรัง กล่าวว่า ตนได้สมัครเข้าร่วมโครงการนี้ เพราะมีน้องศิษย์เก่า ม.อ.ปัตตานี นำข้อมูลมาบอกกล่าวตน ส่วนตัวคิดว่าน่าสนใจอยากเรียนรู้เพื่อที่จะนำมาทดลองลงมือทำจริง จะได้มีผลิตผลพืช ผัก ไว้กินเองที่ครัวเรือนและแจกจ่ายเพื่อนบ้าน อีกประการหนึ่งมองไปถึงการมีรายได้จากการปลูกผักยกแคร่ครั้งนี้ด้วย ในส่วนของครัวเรือนตนเองนั้น ได้ดำเนินการแล้วเสร็จไปเมื่อรอบที่แล้วที่มีทีมนักวิชาการลงมา ครั้งนี้จึงมาเรียนรู้อีกครั้งร่วมกับสมาชิกที่เพิ่งได้เรียนรู้วันนี้เป็นครั้งแรก ถือเป็นการได้ช่วยเพื่อนๆในการเรียนรู้ และเป็นการทบทวนกระบวนการของตนเองอีกครั้ง  สิ่งที่เห็นความเปลี่ยนแปลงในชุมชนอย่างชัดเจน ตั้งแต่ทีมนักวิชาการ คณะวิทยาการสื่อสาร ม.อ.ปัตตานี ลงพื้นที่มาจัดกิจกรรมเรียนรู้ด้านการเกษตรและผักยกแคร่ในชุมชม คือ ชาวบ้านรวมทั้งตนเองมีความกระตือรือร้นที่จะเรียนรู้มากขึ้น เห็นถึงการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน ที่มารวมตัวกันเพื่อสร้างทักษะอาชีพให้ตนเอง ทำให้ชุมชนดูมีสีสันมากยิ่งขึ้น