รายละเอียด




ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.มนทิรา ลีลาเกรียงศักดิ์ รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการวิทยาเขตปัตตานี ได้รับการเลือกตั้งเป็นประธานเครือข่ายขจัดความยากจนระดับภูมิภาค Regional Network on Poverty Eradication (RENPER)



วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2567 ผศ.ดร.มนทิรา ลีลาเกรียงศักดิ์ รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการวิทยาเขตปัตตานี ผศ.ดร.อรุณีวรรณ บัวเนี่ยว รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและพันธกิจสังคม ดร.ไอร์นี แอดะสง หัวหน้าศูนย์ประสานงานการวิจัยแก้ไขปัญหาความยากจนแบบบูรณาการจังหวัดปัตตานี โดย ม.อ.ปัตตานี Prof.Farok Bin Zakaria อาจารย์ประจำศูนย์ภาษา ม.อ.ปัตตานี (อดีตผู้อำนวยการศูนย์ภาษา Universiti Kelantan Malaysia-UMK ประเทศมาเลเซีย) เดินทางไปเข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการเครือข่ายขจัดความยากจนระดับภูมิภาค หรือ Regional Network on Poverty Eradication (RENPER) ณ Universiti Kelantan Malaysia ประเทศมาเลเซีย โดยวาระสำคัญของการประชุม คือ การเลือกตั้งประธานเครือข่าย RENPER เนื่องด้วยประธานเครือข่ายเดิมหมดวาระการดำรงตำแหน่ง ผลการเลือกตั้งปรากฏว่า ผศ.ดร.มนทิรา ลีลาเกรียงศักดิ์ ได้รับการเลือกตั้งอย่างเป็นเอกฉันท์ให้ดำรงตำแหน่งประธานเครือข่าย Renper โดยมีระยะเวลาการปฏิบัติหน้าที่ 2 ปี 

เครือข่ายขจัดความยากจนระดับภูมิภาค หรือ RENPER เป็นการรวมตัวกันของมหาวิทยาลัยกว่า 10 มหาวิทยาลัยในกลุ่มประเทศอาเซียน ได้แก่ มาเลเซีย อินโดนีเซีย อินเดีย เวียดนาม บังคลาเทศ ฟิลิปปินส์ และประเทศไทย โดยมีเป้าหมายเพื่อการใช้องค์ความรู้ของมหาวิทยาลัยในการร่วมขจัดความยากจน แลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ และการสร้างความร่วมมือทางวิชาการ วิจัย และบริการวิชาการระหว่างประเทศสมาชิก มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์เข้าร่วมเป็นสมาชิก Renper ตั้งแต่ปี พ.ศ.2553 โดย ม.อ.ปัตตานี ได้รับมอบหมายให้เป็นวิทยาเขตหลักในการดำเนินงานด้านการขจัดความยากจน ในระยะเวลาที่ผ่านมา ม.อ.ปัตตานีทำหน้าที่ของสถาบันการศึกษาที่ร่วมแก้ไขปัญหาและพัฒนาพื้นที่อย่างเต็มกำลังความสามารถในมิติที่หลากหลาย ทั้งการใช้องค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี วิทยาศาสตร์สุขภาพ และองค์ความรู้ด้านมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ในการแก้ไขปัญหาและพัฒนาพื้นที่มาตลอดระยะเวลากว่า 55 ปี โดยมีเป้าหมายสำคัญคือการยกระดับรายได้และคุณภาพชีวิตของประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้งนี้ งานด้านการแก้ไขปัญหาความยากจนถูกหยิบยกขึ้นมาวิเคราะห์และต่อยอดการดำเนินการอย่างเข้มแข็งเมื่อ ม.อ.ปัตตานีได้รับการสนับสนุนจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ หรือ บพท. ตั้งแต่ปี พ.ศ.2563 ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ทำให้เกิดการดำเนินงานอย่างเป็นระบบ ทั้งในด้านการเก็บรวบรวมข้อมูลเพื่อประกอบการตัดสินใจ การประสานงานกับกลไกภาคีทั้งระดับจังหวัด ท้องถิ่น ท้องที่ และการออกแบบปฏิบัติการแก้จนที่เหมาะสมกับบริบทจังหวัดปัตตานี ระยะเวลา 4 ปีของการดำเนินงาน ส่งผลให้เกิดการพัฒนาศักยภาพของครัวเรือนยากจนและสามารถสร้างรายได้เพิ่มอย่างเป็นรูปธรรม ดังนั้น การได้รับเลือกเป็นประธานเครือข่ายขจัดความยากจนฯ ในครั้งนี้ จึงเป็นโอกาสสำคัญของ ม.อ.ปัตตานีในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับเครือข่ายต่างประเทศซึ่งมีบริบทที่คล้ายคลึงกัน และแลกเปลี่ยนปฏิบัติการแก้จนเพื่อการนำไปประยุกต์ใช้ให้สอดคล้องกับแต่ละประเทศอีกด้วย